ชาอู่หลงเพื่อสุขภาพ พร้อมคุณประโยชน์มากมาย

จากกระแสคนรักสุขภาพรับประทานอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพที่ดียังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมหรือวิตามินต่าง ๆ ที่บรรดาหนุ่ม ๆ สาว ๆ นิยมสรรหามารับประทานเพื่อเพิ่มความสวย และผิวพรรณกระจ่างใส ด้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพก็มาแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟชั่นการดื่มชาที่ผลิตออกมาขายในท้องตลาดก็มีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชาเขียวชาอู่หลงชาดอกไม้หรือชาผสมน้ำผึ้ง ที่ออกมาแข่งขันในเรื่องของสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไปเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภค

ชา (Camellia sinensis) เป็นพืชที่นิยมนำมาดื่มอย่างกว้างขวางทั่วโลกในรูปแบบเครื่องดื่มจากส่วนใบและยอดอ่อน ปัจจุบันชาที่นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องดื่มมีหลายประเภทด้วยกัน แตกต่างกันที่กระบวนการหมัก ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้3 ประเภทหลักได้แก่ชาอู่หลงชาเขียวและชาดำ

เมื่อกล่าวถึงการดื่มชาที่กำลังเป็นแฟชั่นยอดนิยมในปัจจุบันนั้น รู้หรือไม่ว่านักวิจัยได้ค้นพบสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของ ชาอู่หลง ซึ่งมีส่วนประกอบที่ช่วยในการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนัก อีกทั้งยังเป็นชาที่ดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่นลดระดับน้ำตาลในเลือดต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคมะเร็ง และการแก่ก่อนวัย

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีรายงานวิจัยพบว่า ชาอู่หลงที่เป็นชาที่มีการผ่านกระบวนการหมักเพียงบางส่วนไม่เกิน 20% หรือเรียกว่า กระบวนการกึ่งหมัก นอกจากจะทำให้ชามีกลิ่นหอมเฉพาะ อร่อยนุ่มละมุน และชุ่มคอแล้ว ยังสามารถรักษาองค์ประกอบทางเคมีได้ใกล้เคียงกับใบชาเขียว และกระบวนการหมักนี้ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีเกิดสารใหม่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่เรียกว่า สารกลุ่มโพลิเมอไรซ์ โพลิฟีนอล หรือ โอทีพีพี (OTPP; Oolong Tea Polymerized Polyphenol) เป็นองค์ประกอบหลัก มีผลต่อการลดและควบคุมไขมันในเลือดในระดับสัตว์ทดลองและอาสาสมัครได้ โดยสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปส ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ภายหลังจากรับประทานอาหาร ลดการดูดซึมไขมัน โดยทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น และเพิ่มการขับไขมันออกทางอุจจาระ นอกจากนี้มีการศึกษาผลของ OTPP ต่อระดับไตรกลีเซอไรด์หลงั การรับประทานอาหารทีมี่องคประกอบของไขมันสูง โดยให้อาสาสมัครดื่มชาอู่หลงที่มี OTPP เป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง วัดระดับไตรกลีเซอไรด์ที่เวลา 3 และ 5 ชั่วโมงพบว่าระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อ เปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ได้รับตัวอย่างชาหลอก ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการดื่มชาอู่หลงซึ่งมีปริมาณ OTPP มากกว่าชาเขียวส่งผลในการเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าชาเขียวถึง 2 เท่า ทั้งที่ชาอู่หลงมีปริมาณคาเฟอีนและ epicatechin gallate เพียงครึ่งหนึ่งของชาเขียว มีการศึกษาผลข้างเคียงของการดื่มชาอู่หลงในระยะยาวนั้น ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อตัวผู้บริโภคแต่อย่างใด

นอกจากนี้ชาอู่หลงยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระช่วยต่อต้านริ้วรอยที่เกิดจากการสัมผัสรังสีอัลตร้าไวโอเล็ต ความเครียด หรือมลภาวะต่างๆได้ อาจช่วยชะลอความชราได้

ปัจจุบันการดื่มชาอู่หลงจึงเป็นอีกทางเลือกของผู้รักสุขภาพและหนุ่มสาวยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการลดการดูดซึมไขมันและควบคุมน้ำหนัก ซึ่งพบว่าปัจจุบันคนไทยมีปัญหาภาวะอ้วนและโรคอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขจากการสำรวจสภาวะสุขภาพของคนไทย คาดว่าปัจจุบันคนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินจนถึงระดับอ้วนมากกว่า 17 ล้านคน และในแต่ละปีคนไทยจะเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากประชากรทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากวิถีการดำเนินชีวิตที่ไม่สมดุล มีการบริโภคมากเกินความต้องการของร่างกาย การออกกำลังกายน้อย กรรมพันธุ์ ช่วงอายุ และผลจากยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น

วิธีการป้องกันและรักษาโรคอ้วนในปัจจุบันสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ได้ผลดีอย่างยั่งยืนควรดูแลที่ต้นเหตุ ด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การควบคุมการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีแป้ง ไขมัน และน้ำตาลสูง ควรดื่มชาอู่หลงเป็นประจำ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาทางการแพทย์ เช่น การดูดไขมัน การผ่าตัด กระเพาะอาหาร การฝังเข็ม และการรับประทานยา เป็นต้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ส่วนการใช้ยาลดความอ้วนพบว่ามีผลข้างเคียงทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ซึ่งบางรายอันตรายถึงชีวิตดังที่เห็นในข่าวบ่อย ๆ ดังนั้น เพื่อความสวยปิ๊ง หุ่นเป๊ะ ดูสุขภาพดี และฟิตแอนด์เฟิร์มสไตล์หนุ่มสาวยุคใหม่อย่างยั่งยืน ต้องไม่ลืมออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะควบคู่กันไปด้วย

เอกสารอ้างอิง

  • Han L. K., Takaku T., Li J., Kimura Y., and Okuda H., (1999). Anti-obesity action of oolong tea. International Journal of Obesity, 23: 98-105.
  • Hara Y., Moriguchi S., Kusumoto A., Nakai M., Toyoda-Ono Y., and Segawa T. (2004). Suppressive effects of oolong tea polyphenol-enriched oolong tea on postprandial serum triglyceride elevation. Japanese Pharmacology and Therapeutics (in Japanese), 32: 335-342.
  • Komatsu T., Nakamori M., Komatsu K., Hosoda K., Okamura M., Toyama K. et al. (2003). Oolong tea increases energy metabolism in Japanese females. Journal of Investigative Medicine, 50: 170-175.
  • Maekawa T., Teramoto T., Nakamura J., Kitagawa Y., Shibata H., and Tsuchida T. (2011). Effect of Long-term Intake of “KURO-Oolong tea OTPP” on Body Fat Mass and Metabolic Syndrome Risk in Over weight Volunteers. Japanese Pharmacology and Therapeutics, 39 (10): 889-900.
  • Nakamura J., Teramoto T., Abe K., Ohta H., Kiso Y., Takehara I., Fukuhara I. and Hirano T. (2007). Lowering effects on visceral fat of the OTPP (oolong tea polymerized polyphenols) enriched Oolong tea (FOSHU “KURO-Oolong tea OTPP”) in over weight volunteers. Japanese Pharmacology and Therapeutics, 35: 661-671.

Credit

ขอขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ คณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต – วงการแพทย์ 1-15 สิงหาคม 2556 หน้า 39