ชาอู่หลงลดไขมัน ชาเพื่อสุขภาพ

“ชา” ไม่ว่าจะเป็น ชาอู่หลง ชาเขียว หรือชาดำ ต่างก็มาจากต้นชาชนิดเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงกระบวนการผลิต แต่ถ้าเป็นชาที่ทำจากสมุนไพรอื่น แม้คนทั่วไปจะเรียกว่า ชา แต่แท้ที่จริงไม่ใช่ชา กรรมวิธีที่แตกต่างกันในการผลิตชา ทำให้ชาแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเฉพาะต่างกัน รวมทั้งรสชาติ สี ปริมาณคาเฟอีน และสารต้านอนุมูอิสระ แม้จะมาจากต้นชาชนิดเดียวกันก็ตาม ชาอู่หลง เป็นชาที่การผ่านกระบวนการกึ่งหมัก หรือหมักเพียงบางส่วน ไม่เกิน 20%

ชา เป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันทั่วโลก และเป็นที่ทราบกันดีว่า ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มฟลาโวนอยด์สูง โดยเฉพาะชาอู่หลง เป็นที่เลื่องลือและรู้จักกันว่าเป็นชาลดน้ำหนัก นอกเหนือจากประโยชน์อื่นๆ ต่อสุขภาพ เช่น ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยควบคุมระดับนํ้าตาลในเลือดในผู้เป็นโรคเบาหวาน

ชา ทุกชนิดจะมีสารโพลีฟีนอลที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง ในชาอู่หลงและชาเขียวมีสารโพลีฟีนอล ที่ชื่อว่า อีพิแกลโลแคททีคิน แกลเลท (EGCG) ที่ให้ผลในการป้องกันโรค รวมทั้งการลดน้ำหนัก การวิจัยในชาอู่หลงพบว่าในชาอู่หลงยังมีสารโพลีฟีนอลที่เกิดปฏิกิริยาพอลิ เมอร์ไรเซชั่น หรือ Oolong Tea Polymerized Polyphenols (OTPP) ซึ่งเกิดจากกระบวนการกึ่งหมักชาอู่หลง และเป็นสารหลักที่พบได้มากในชาอู่หลง แต่ไม่พบในชาเขียว นอกจากนี้ ชาอู่หลงยังมีสารโพลีฟีนอลชนิดอื่น เช่น โพรแอนโธไซยานิดิน (Proanthocyanidin) อู่หลงโฮโมบิส ฟลาแวนส์ (Oolonghomobis flavans) ทีอาซิเนซินส์ (Thea sinesins) ทีอาฟลาวินส์ (Theaflavins) ซึ่งล้วนแต่มีฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์ ที่ย่อยไขมันได้ดีกว่าสาร EGCG ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่า ชาอู่หลงอาจจะช่วยลดน้ำหนักและลดการดูดซึมไขมันได้ดีกว่า ชาเขียว

ชาอู่หลงและคุณสมบัติลดการดูดซึมไขมัน

การ วิจัยในสัตว์และอาสาสมัคร พบว่า สาร OTPP ในชาอู่หลงมีผลต่อการลดและควบคุมไขมันในเลือด โดยสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไลเปส ลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ภายหลังจากรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ลดการดูดซึมไขมัน โดยช่วยให้ร่างกายมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น และเพิ่มการขับไขมันทางอุจจาระอีกด้วย

จากการให้อาสาสมัครดื่มชาอู่ หลง ที่มี OTPP เป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง และวัดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดที่เวลา 3 และ 5 ชั่วโมง พบว่าระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับอาสาสมัคร ที่ได้รับชาหลอก

งานวิจัยในหนูพบว่า เมื่อให้อาหารที่มีไขมันสูงแก่หนูและให้หนูดื่มชาอู่หลง มีผลป้องกันไม่ให้หนูอ้วนและยังป้องกันไขมันเกาะตับในหนู นอกจากนี้ คาเฟอีนในชาอู่หลงยังช่วยเสริมชาอู่หลงในการสลายไขมันโดยการช่วยเหลือของ ฮอร์โมนอะดรีนาลิน การที่ชาอู่หลงยังยับยั้งฤทธิ์ของเอ็นไซม์ในตับทำให้ร่างกายไม่สามารถย่อย ไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไขมันบางส่วนจึงถูกขจัดออกจากร่างกาย และเพื่อพิสูจน์ผลของชาอู่หลงในการลดการดูดซึมไขมัน มีการศึกษาอื่นๆ ที่นักวิจัยทำการวิเคราะห์ปริมาณไขมันที่ถูกขับออกทางอุจจาระ พบว่าอาสาสมัครที่ได้รับชาอู่หลงมีไขมันในอุจจาระ 21% เมื่อเทียบกับอาสาสมัครที่ไม่ได้รับชาอู่หลงมีไขมันในอุจจาระเพียง 13% ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าการดื่มชาอู่หลงอาจช่วยในการลดน้ำหนัก

สาร OTPP ในชาอู่หลง ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน

จากรายงาน ผลการวิจัยในอาสาสมัครหญิงชาวญี่ปุ่น ที่มีสุขภาพดี จำนวน 11 ราย โดยเปรียบเทียบระหว่างการดื่มนํ้าชาอู่หลงและชาเขียว พบว่า หลังจากที่อาสาสมัครดื่มชาอู่หลงและชาเขียว เป็นเวลา 2 ชั่วโมง อัตราการเผาผลาญพลังงาน สูงขึ้นเป็น 10% และ 4% ตามลำดับ แสดงว่าการดื่มชาอู่หลง ซึ่งมีปริมาณ OTPP มากกว่าชาเขียวนั้น ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานได้ดีกว่าชาเขียวถึง 2 เท่า ทั้งที่ชาอู่หลงมีปริมาณคาเฟอีน และ epicatechin gallate เพียงครึ่งหนึ่งของชาเขียว

ดังนั้น การดื่มชาอู่หลงเป็นประจำ อาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายด้าน รวมถึงการใช้เป็นตัวช่วยร่วมกับการควบคุมอาหารในผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก โดยที่ฮอร์โมนอะดรีนาลินช่วยกระตุ้นการสลายไขมัน ลดฤทธิ์เอ็นไซม์ที่ย่อยไขมัน ทำให้ไขมันถูกดูดซึมน้อยลง ผลการวิจัยนี้ อาจนำไปใช้ประโยชน์ในการลดการดูดซึมของไขมัน โดยการดื่มชาอู่หลงร่วมกับการกินอาหารไขมันสูง และยังสามารถดื่มชาอู่หลงเป็นเครื่องดื่มประจำวันได้อย่างปลอดภัย ในการใช้เป็นตัวช่วยลดการดูดซึมไขมัน เพื่อการควบคุมน้ำหนักตัวอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  • Hara Y., Moriguchi S.,Kusumoto A., Nakai M., Toyoda-Ono Y., and Segawa T.(2004).Suppressive effects of oolong tea polyphenol-enriched oolong tea on post prandial serum triglyceride elevation.Japanese Pharmacology and Therapeutics (in Japanese), 32: 335-342.
  • Komatsu T., Nakamori M., Komatsu K., Hosoda K., Okamura M., Toyama K. et.al. (2003). Oolong tea increases energy metabolism in Japanese females. Journal of Investigative Medicine, 50: 170-175.
  • Nakai M, Fukui Y, Asami S, Toyoda-Ono Y, Iwashita T, Shibata H et.al. (2005) Inhibitory effects of oolong tea polyphenols on pancreatic lipase in vitro. Journal of Agricultural and Food Chemistry, 53: 4593-4598.
  • Nakamura J., Abe K., Ota H., Kiso Y.,Takehara I., Fukuhara I. and Hirano T.(2008). Lowering effects on the OTPP (Oolong Tea Polymerized Polyphenols) enriched oolong tea (FOSHU “KURO-Oolong tea OTPP”) on visceral fat in over weight volunteers. Japanese Pharmacology and Therapeutics, 36(4).
  • Nakamura J., Teramoto T., Abe K., Ohta H., Kiso Y., Takehara I., Fukuhara I. and Hirano T. (2007). Lowering effects on visceral fat of the OTPP (Oolong Tea Polymerized Polyphenols) enriched Oolong tea (FOSHU “KURO-Oolong tea OTPP”) in over weight volunteers. Japanese Pharmacology and Therapeutics, 35: 661-671.

เรื่องโดย อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (สหรัฐอเมริกา)

Credit: คัดลอกจาก วารสาร Nursing Time ฉบับ ปักษ์หลังเดือน สิงหาคม 2556